วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันเข้าพรรษา


 
 
วันเข้าพรรษา 2555
Buddhist Lent Day 
 
วันเข้าพรรษา พรรษาแห่งการบรรลุธรรม

วันเข้าพรรษา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
 
 

ความเป็นมาของการเข้าพรรษา

     ในเรื่องความเป็นมาของการเข้าพรรษา ถ้าว่ากันตามประวัติย่อๆ คือ ในยุคต้นพุทธกาล ก็ยังไม่มีการเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่าท่านควรจะไปเทศน์ ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ ท่านพอมีเวลา ท่านก็จะไป หรือไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนมันเงียบ มันสงัดดี เหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ(Meditation)ของท่าน ท่านก็จะไป ซึ่งแน่นอน ส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ไกลๆออกไปจากตัวเมือง หรือว่าต้องผ่านไปในชนบทนั่นเอง
 
     จากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ เนื่องจากในฤดูฝนที่เขาทำไร่ทำนากันอยู่นั้น บางครั้ง ข้าวกล้าของเขาก็เพิ่งหว่านลงไปในนา มันเพิ่งงอกออกมาใหม่ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้า พระภิกษุก็เดินผ่านไป นึกว่ามันเป็นดงหญ้า ก็เลยย่ำข้าวกล้าของเขาไป ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เขาก็มาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าพระไปย่ำข้าวของเขาที่ปลูกเอาไว้ หว่านเอาไว้ นกกาฤดูฝนมันยังอยู่กับรังของมัน พระทำไมไม่รู้จักพักบ้าง
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดให้พระภิกษุมีการเข้าพรรษาเมื่อเข้าฤดูฝน
 
วันเข้าพรรษาคือตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงขึ้น 15 ค่ำเดือน 11
 
     เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เลยทรงกำหนดให้พระภิกษุ เมื่อเข้าพรรษา หรือเมื่อเข้าฤดูฝน ให้พระอยู่กับที่ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15ค่ำเดือน11 ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใคร ถ้าใครต้องการให้โปรด ก็มาที่วัดก็แล้วกัน มาหาท่าน ไม่ใช่ท่านไปหาเขา กำหนดเป็นอย่างนี้ไป เพื่อตัดปัญหาไม่ให้ใครมาบ่นลูกของพระองค์ได้
 
     แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระองค์ทรงถือโอกาสที่เกิดเป็นปัญหานี้ ได้ทรงเปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุว่า ถ้าอย่างนั้นพระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าจริงๆแล้ว ในการอบรมถ่ายทอดศีลธรรม ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้น ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นที่เป็นทางต่อเนื่องกันทุกวันทุกวัน อย่างนี้จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดี
 
ลูกผู้ชายบวชให้ได้อย่างน้อย 1 พรรษา
 
พระภิกษุต้องอยู่วัดช่วงเข้าพรรษา
 
     เพราะฉะนั้น พระองค์ก็เลยทรงกำหนดขึ้นมาว่า ให้พระภิกษุอยู่กับที่ในช่วงเข้าพรรษาอยู่ในวัด แล้วพระใหม่ก็ศึกษาหรือรับการถ่ายทอดธรรมะจากพระเก่า ส่วนพระเก่าก็ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ด้วย คือ สอนพระใหม่
 
    เท่านั้นยังไม่พอ พระเก่าก็วางแผน กำหนดแผนการเลยว่าเมื่อออกพรรษาแล้ว ควรจะเดินทางไปโปรดที่ไหน นั่นก็อย่างหนึ่ง อีกทั้งปรับปรุงหลักสูตรวิธีการเทศน์การสอน การอบรมให้เหมาะกับท้องถิ่น ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นต้น
 
ช่วงเข้าพรรษาพระใหม่ก็จะได้รับการถ่ายทอดธรรมะจากพระเก่า
 
ช่วงเข้าพรรษาพระใหม่ก็ศึกษาธรรมะจากพระเก่า
พระเก่าก็ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์สอนพระใหม่
 
ดังนี้ การเข้าพรรษาจึงเป็นการดีทั้งประชาชน ดีทั้งพระเก่า พระใหม่ ไปในตัวเสร็จ 
 
กิจวัตรของพระภิกษุในฤดูเข้าพรรษา  
 
     ทีนี้กิจวัตรของพระภิกษุในฤดูเข้าพรรษา ว่าที่จริงก็ทำนองเดียวกันกับออกพรรษา เพียงแต่ว่าเมื่อไม่ได้ออกไปนอกพื้นที่ พระภิกษุจึงมีโอกาสดังต่อไปนี้
 
     ตัวท่านเองนั้น ก็มีโอกาสที่จะทำภาวนาของท่าน มีโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรของท่าน มีโอกาสที่จะค้นคว้าพระไตรปิฎกให้ยิ่งๆ ขึ้นไป อันนี้ก็เป็นเรื่องราวในปัจจุบันนี้ กิจวัตรในปัจจุบันของพระ เราก็ทำอย่างนี้
 
เจริญภาวนาในช่วงเข้าพรรษา
 
ในช่วงเข้าพรรษานี้พระภิกษาสงฆ์จะได้มีโอกาส
หาความรู้จากพระไตรปิฎกให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     ยิ่งกว่านั้น ถ้าเราไปตามวัดต่างๆ ในขณะนี้ ในฤดูเข้าพรรษานี้ เนื่องจากเราก็นิยมบวชกัน จะบวชชั่วคราวแค่พรรษาก็ตาม หรือจะบวชระยะยาวก็ตาม ในเมื่อพอเข้าพรรษาแล้ว พระเก่าพระใหม่ต้องอยู่ที่เดียวกัน พระเก่าทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ใครถนัดวิชาไหนก็มาสอนวิชานั้นให้แก่พระภิกษุใหม่ ใครถนัดพระวินัยก็สอนพระวินัย ใครถนัดสอนนักธรรมหรือธรรมะก็สอนธรรมะ ใครถนัดสอนพุทธประวัติก็สอนพุทธประวัติ เป็นต้น
 
     พูดง่ายๆ ฤดูเข้าพรรษาจึงกลายเป็นฤดูติวเข้ม หรือถ้าจะพูดกันอย่างในปัจจุบันก็บอกว่า ฤดูเข้าพรรษานี่แท้จริงก็เป็น Moral Camping ของพระภิกษุนั่นเอง กิจวัตรอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกไปโปรดญาติโยมก็พักเอาไว้ก่อน จึงเหลือแต่เรื่องของการศึกษาเป็นหลัก ค้นคว้าพระไตรปิฎกเป็นหลัก เนื่องจากมีเวลาที่จะค้นคว้า
 
ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุจะได้มีเวลาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก
 
ฤดูกาลเข้าพรรษาเป็นฤดูกาลติวเข้มของพระภิกษุ
 
     เมื่อหมดจากเวลาการค้นคว้า ก็มานั่งสมาธิกันไป อันนี้ก็เป็นเรื่องของการค้นคว้าภายใน พระไตรปิฎกในตัว พระไตรปิฎกนอกตัวก็มีอยู่เป็นเล่มๆ ค้นคว้าพระไตรปิฎกในตัวก็คือการทำภาวนานั่นเอง
 
     ยิ่งกว่านั้น เมื่อพระใหม่มาอยู่ในวัดกันพร้อมหน้าพร้อมตา โยมพ่อโยมแม่ ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงของพระใหม่ ได้มาร่วมทำบุญที่วัด ได้มาพบพระเพื่อน พบพระลูก พบพระหลาน ถึงแม้พระลูกพระหลานเหล่านี้ยังเทศน์ไม่เป็น เพราะบวชใหม่ แต่ว่าเมื่อมาแล้วก็จะได้พบพระครูบาอาจารย์ พระผู้ใหญ่ ท่านที่มาร่วมทำบุญเหล่านี้จึงมีโอกาสฟังเทศน์จากพระผู้ใหญ่ จึงกลายเป็นฤดูแห่งการศึกษาธรรมะไปด้วยในตัวเสร็จ ทั้งของพระ ทั้งของญาติโยม อันนี้ก็เป็นเรื่องราวของการเข้าพรรษาในยุคปัจจุบันนี้
 

การปฏิบัติตัวของชาวพุทธในช่วงเข้าพรรษา 

 
    ในช่วงเข้าพรรษา พระเก่าพระใหม่ ท่านอยู่กันพร้อมหน้า เมื่ออยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้ ก็เป็นโชคดีของญาติโยม โชคดีอย่างไร โชคดีที่เนื้อนาบุญอยู่กันพร้อมหน้า ญาติโยมตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด ท่านไม่ปล่อยให้พระเข้าพรรษาเพียงลำพัง ญาติโยมก็พลอยเข้าพรรษาไปด้วยเหมือนกัน แต่ว่าเข้าพรรษาของญาติโยมนั้น เข้าพรรษาด้วยการอธิษฐานจิต
 

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีแม่บทไว้ชัดอยู่ 3 ข้อ คือ

 
1.ละ ชั่ว
2.ทำดี
3.กลั่นใจให้ใส
 
      เมื่อพระอยู่จำพรรษา ท่านก็มีหน้าที่ของท่านว่า ละชั่ว คำ ว่า ละชั่วของพระนั้น ไม่ใช่ ชั่ว หยาบๆอย่าง ที่มนุษย์เป็นกัน แต่ว่าละชั่วของท่านในที่นี้หมายถึงละกิเลส ซึ่งแม้ในเรื่องนั้นโดยทางโลกแล้ว มองไม่ออกหรอกว่ามันเป็นความชั่ว ความไม่ดี เช่น มีจิตใจฟุ้งซ่าน ความจริงก็อยู่ในใจของท่าน คนอื่นมองไม่เห็น ถึงขนาดนั้น ท่านก็พยายามจะละความฟุ้งซ่านของท่านให้ได้ ด้วยการเจริญภาวนา หรือทำสมาธิให้ยิ่งๆขึ้นไป เป็นต้น ท่านก็ละกิเลสหรือละชั่วที่ละเอียดๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สมกับภูมิแห่งความเป็นพระของท่าน
 
กิจกรรมในช่วงเข้าพรรษาของพระสงฆ์
 
ช่วงเข้าพรรษาพระใหม่ก็ตั้งใจศึกษาหาความรู้ให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป
 
     ความดีท่านก็ทำให้ยิ่งๆ ขึ้น ตัวอย่างเช่น อยู่ที่วัดพระเก่าก็เทศน์อบรมให้พระใหม่ พระใหม่ก็ตั้งใจศึกษาให้เป็นความรู้ความดี เพิ่มพูนความดีให้กับตัวของท่านไป แล้วก็ทำใจให้ใส พร้อมๆ กัน ด้วยการสวดมนต์ภาวนา แต่เช้ามืด ท่านตื่นกันขึ้นมาตั้งแต่ตีสี่ ตื่นขึ้นมาสวดมนต์กันแต่เช้า เป็นต้น
 
     สำหรับญาติโยมทั้งหลาย แต่โบราณ พอวันเข้าพรรษาก็อธิษฐานพรรษากันเหมือนกัน อธิษฐานอย่างไร อธิษฐานอย่างนี้ พรรษานี้ สามเดือนนี้ ที่รู้ว่าอะไรเป็นนิสัยที่ไม่ดีในตัวเองที่มีอยู่ ก็อธิษฐานเลย พรรษนี้ (เลือกมาอย่างน้อยหนึ่งข้อ) เราจะแก้ไขตัวเองให้ได้ เช่น บางคนเคยกินเหล้า เข้าพรรษาแล้วก็อธิษฐานว่า พรรษนี้เลิกเหล้า เลิกเหล้าให้เด็ดขาด บางคนเคยสูบบุหรี่ ก็อธิษฐานว่า อย่างน้อยพรรษานี้จะเลิกบุหรี่ให้เด็ดขาด เป็นต้น เขาก็มีการอธิษฐานกันในวันเข้าพรรษา พรรษานี้จะละความไม่ดีอะไรบ้าง ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ให้พยายามละกัน คือ ทำตามพระให้เต็มที่นั่นเองในระดับของประชาชน
 
    สิ่งใดที่เป็นความดี ก็พยายามที่จะทำให้ยิ่งๆขึ้นไป เช่น เมื่อก่อนนี้ ก่อนจะเข้าพรรษา ตักบาตรบ้าง ไม่ตักบาตรบ้าง วันไหนมีโอกาสก็ทำ วันไหนชักจะขี้เกียจก็ไม่ทำ เมื่อพรรษานี้ พระอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาดีแล้ว ตั้งใจเลยที่จะตักบาตรให้ได้ทุกเช้า เมื่อก่อนไม่ทุกเช้า แค่วันเสาร์ วันอาทิตย์หรือวันโกนวันพระ พรรษานี้พระอยู่พร้อมหน้า อธิษฐานเลย จะตักบาตรทุกเช้าตลอดสามเดือนนี้ที่เข้าพรรษา นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่ปู่ย่าตาทวดทำกัน
 
อุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน รักษาศีล 8 ในช่วงเข้าพรษา
 
รักษาศีลในช่วงเข้าพรรษาจากศีลห้าก็ยกขึ้นไปเป็นศีลแปด
 
    บางท่านยิ่งกว่านั้น ธรรมดาเคยถือศีลห้าเป็นปกติอยู่แล้ว พรรษานี้เลยถือศีลแปดทุกวันพระไปเลย แถมจากศีลห้ายกขึ้นไปเป็นศีลแปด บางท่านเคยถือศีลแปดทุกวันพระ ถืออุโบสถศีลมาทุกวันพระแล้ว เมื่อพรรษาที่แล้ว พรรษานี้ถือศีลแปด ถืออุโบสถศีล ทั้งวันโกนวันพระ เพิ่มเป็นสัปดาห์ละสองวัน บางท่านเก่งกว่านั้นขึ้นไปอีก พรรษานี้จะรักษาศีลแปด รักษาอุโบสถศีล กันตลอดสามเดือนเลย
 
      ใครมีกุศลจิตศรัทธามากเพียงไหน ก็ทำให้ยิ่งๆขึ้นไปตามนั้น บางท่านยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ถึงกับอธิษฐานว่า พรรษานี้นอกจากถือศีลกันตลอด ถือศีลแปดกันตลอดพรรษาแล้วยังไม่พอ อธิษฐานที่จะทำสมาธิทุกวัน ทุกคืนก่อนนอนวันละหนึ่งชั่วโมง ใครที่ไม่เคยทำก็อธิษฐานจะทำสมาธิวันละหนึ่งชั่วโมง คืนละหนึ่งชั่วโมง บางท่านเพิ่มเป็นคืนละสองชั่วโมง สามชั่วโมง ก็ว่ากันไปตามกุศลศรัทธาอย่างนี้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ปู่ย่าตาทวดของเราทำกันมา
 
     อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากก็คือ เนื่องจากปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนไป ญาติโยมประชาชนส่วนมากหยุดงานกันวันเสาร์ วันอาทิตย์ แต่พระนั้น แต่เดิมก็เทศน์กันวันโกนวันพระเป็นหลัก เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น ที่ไปฟังเทศน์ในวันโกนวันพระ  
 
     แต่เข้าพรรษานี้ ขอฝากหลวงพ่อ หลวงพี่ ด้วยก็แล้วกัน ถ้าจะเพิ่มวันเทศน์วันสอนธรรมะให้กับประชาชนในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ซึ่งญาติโยมเขาหยุดงานกันอีกสักวันสองวันก็จะเป็นการดี แล้วก็ญาติโยมด้วยนะ รู้ว่าพระเทศน์วันโกนวันพระ แล้วครั้งนี้เข้าพรรษา ท่านแถมวันเสาร์-วันอาทิตย์ให้ด้วย อย่าลืมไปฟังท่านเทศน์ด้วยนะ ถ้าขยันกันอย่างนี้ มีแต่บุญกุศลกันตลอดทั้งพรรษาเลย แล้วความเจริญรุ่งเรืองทั้งตัวเอง ทั้งพระพุทธศาสนา ประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ก็จะบังเกิดขึ้นตลอดปี ตลอดไป
 
ประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษา
 
บวชเข้าพรรษาหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของลูกผู้ชาย
 
 
ประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษา 
 
     ความจริงแล้ว พระในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะบวชในฤดูกาลไหน หรือจะบวชช่วงสั้น ช่วงยาวแค่ไหนก็ตาม มีวัตถุประสงค์ในการบวชเหมือนกัน คือ มุ่งที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดไป แล้วก็ทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือ พูดกันภาษาชาวบ้านว่า มุ่งกำจัดกิเลสเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกันอีก
 
     ทีนี้อย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้ว ไม่ว่าบวชช่วงสั้นช่วงยาว ตั้งใจอย่างนี้ ทำตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างนี้เต็มที่ ไม่ว่าบวชช่วงไหนก็ได้บุญเท่าๆ กันทั้งนั้น อันนี้โดยหลักการ
 
     แต่ว่าเอาจริงๆ เข้าแล้ว เนื่องจากเรานั้น ยังเป็นคนที่เข้ามาสู่ศาสนากันใหม่ๆ แล้วก็ยังต้องการสภาพที่เหมาะสมพิเศษๆ ในการที่จะศึกษาธรรมะ ในการที่จะขัดเกลาตัวเอง ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าได้บรรยากาศพิเศษๆขึ้นมา ก็จะช่วยให้การบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชนั้นง่ายขึ้นและดีขึ้น ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้เลือกแล้วว่า ฤดูเข้าพรรษาเป็นบรรยากาศพิเศษ เหมาะที่จะให้ลูกหลานของตัวเองจะเข้ามาบวช พิเศษอย่างไรในฤดูนี้
 
    ประการที่ 1. ดินฟ้าอากาศเป็นใจ คือ ในฤดูร้อนของประเทศไทย เรารู้ๆ กันอยู่ว่า ถึงคราวร้อนก็ร้อนเหลือหลาย ร้อนจนกระทั่งแม้ในทางโลก เด็กนักเรียนก็ปิดเทอมกันภาคฤดูร้อน ฤดูร้อนเรียนกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อากาศมันร้อนหนัก เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็ปิดเรียน ในทางธรรมก็เช่นกัน ถ้าจะให้พระใหม่มาเรียนธรรมะในฤดูร้อนคงย่ำแย่
 
      ในฤดูหนาวก็เช่นกัน สมัยเราเป็นเด็ก ไปโรงเรียนกันในฤดูหนาว เป็นเด็กนักเรียนก็ไปนั่งผิงไฟกันด้วยซ้ำ ไปนั่งงอก่องอขิงกัน บรรยากาศในการเรียนมันหย่อนๆ ไปเหมือนกัน ร้อนไปก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ฤดูที่ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เห็นมีอยู่ฤดูเดียวสำหรับประเทศไทย คือ ฤดูฝน หรือฤดูเข้าพรรษานั่นเอง เพราะฉะนั้นช่วงเข้าพรรษา ดินฟ้าอากาศมันพร้อม มันดีพร้อม มันเป็นใจ เหมาะแก่การศึกษาธรรมะ การค้นคว้าธรรมะ ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
 
ครูบาอาจารย์จะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันในช่วงเข้าพรรษา
 
ครูบาอาจารย์จะพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษานี้
 
     ประการที่ 2. ครูก็พร้อม เพราะว่าพระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านถูกพระวินัยกำหนดแล้วว่า ห้ามไปไหน ต้องพักค้างอยู่ในวัดตลอดพรรษา ดังนั้น ครูบาอาจารย์จึงพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษานี้ เพราะฉะนั้นถ้าใครมาเป็นลูกศิษย์ ก็จะได้พบหน้าพระที่เป็นครูบาอาจารย์ทุกองค์เลย โอกาสจะได้รับการถ่ายทอดธรรมะจึงเต็มที่มากกว่าฤดูอื่น
 
     ประการที่ 3. เราถือเป็นค่านิยมกันแล้วว่า พระใหม่ควรจะบวชในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้น ต้องถือว่าฤดูนี้ ดินฟ้าอากาศเป็นใจ ครูบาอาจารย์ คือ พระเก่าก็พร้อม ลูกศิษย์ คือ พระใหม่ก็พร้อมหน้าพร้อมตากันมาบวชในฤดูนี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ความคึกคักในการเรียนมันก็มี
 
     ยิ่งไปกว่านั้น ความพร้อมประการที่ 4. ในส่วนของญาติโยม เมื่อลูกหลานมาบวช ญาติโยมก็เกิดความคึกคักเหมือนกันที่จะมาฟังเทศน์ด้วย เพราะว่ามาด้วยความห่วงพระลูกพระหลานของตัวเอง อีกทั้งยังนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญ มาเลี้ยงพระลูกพระหลาน แล้วก็เลยเลี้ยงกันไปทั้งวัดอีกด้วย
 
      ยังไม่พอมาเลี้ยงพระลูกพระหลานเสร็จแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องไปกราบพระที่เป็นครูบาอาจารย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ความคุ้นเคยระหว่างพระกับโยมในช่วงเข้าพรรษาก็มีมากขึ้น ญาติโยมจึงมีโอกาสจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมๆกันไปด้วย พระลูกพระหลานก็เข้าห้องเรียนไปห้องหนึ่ง โยมพ่อโยมแม่ก็เข้าฟังเทศน์ในศาลาอีกศาลาหนึ่ง รวมทั้งข้าวปลาอาหารก็มีพร้อมมูลอย่างนี้ บรรยากาศแห่งความสมบูรณ์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมมาพร้อมกันถึง 4 ประการอย่างนี้ ฤดูเข้าพรรษาจึงนับว่าเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเข้ามาบวชอย่างยิ่ง
 
     จึงเป็นธรรมเนียมกันมาทุกวันนี้ว่า บวชตอนเข้าพรรษานั้นน่าบวชที่สุด เพราะว่ามีโอกาสได้บุญมากที่สุด ทั้งพระผู้บวช คือ ได้ศึกษาเต็มที่ มีโอกาสที่จะโปรดโยมพ่อโยมแม่มากที่สุด เพราะถึงแม้ตัวเองเป็นพระใหม่ยังเทศน์ไม่ได้ แต่พระอาจารย์ในวัดก็ช่วยเทศน์ให้ ทุกอย่างมันสมบูรณ์พูนสุขจริงๆ บวชเข้าพรรษาจึงมีทีท่าว่าได้บุญมากกว่าฤดูอื่น ด้วยประการฉะนี้
 
*เรียบเรียงจากรายการหลวงพ่อตอบปัญหา ทาง DMC
โดย พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทัตตชีโว)
 
พรรษาแห่งการบรรลุธรรม
 
เข้าพรรษาเข้าถึงธรรม
 
เข้าพรรษา เข้าถึงธรรม ฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์
 
     ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พระภิกษุสงฆ์ต่างแสวงหาสถานที่สัปปายะที่เหมาะสมต่อการบำเพ็ญเพียร ทำภาวนาตลอดไตรมาส ทำใจให้หยุดนิ่ง เพิ่มพูนความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพื่อจะได้เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลก ตลอดพรรษาท่านจึงฝึกฝนอบรมจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยไม่ไปแรมราตรีที่ไหน แต่จะแสวงหาทางแห่งความบริสุทธิ์ภายใน ซึ่งเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 นี่เอง
 
     ในฤดูเข้าพรรษา ตามพุทธประเพณีที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมานั้น นอกจากจะกำหนดขอบเขตที่จำพรรษาแล้ว ผู้รู้ทั้งหลายยังกำหนดขอบเขตของใจให้อยู่ในวงกาย คือ อยู่ในปริมณฑลรอบตัว ด้วยการน้อมใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายตลอดเวลา มีสติไม่ให้เผลอออกนอกตัว เพราะยิ่งดำเนินจิตเข้าสู่กลางภายในได้มากเท่าไร ความสุขและความบริสุทธิ์ ก็จะเพิ่มพูนทับทวีมากยิ่งขึ้นไปตามลำดับ
 
     นอกจากนี้ ท่านจะถือเอาโอกาสนี้ ศึกษาพระปริยัติธรรม รวมทั้งนักธรรมบาลีให้แตกฉานควบคู่ไปด้วย คือ ศึกษาทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เพื่อจะได้มีความรู้แนะนำสั่งสอนตนเองและชาวโลก ให้ได้รู้แจ้งในธรรมด้วย การเข้าพรรษาในสมัยพุทธกาล ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก พระสงฆ์ในหลายๆ วัด ท่านจะตั้งกติกาที่จะเป็นเหตุให้การปฏิบัติธรรมได้ผลยิ่งขึ้นไป
 
     *ดังเช่นในครั้งพุทธกาล สมัยหนึ่ง พระมหาปาละ ซึ่งเคยเป็นลูกเศรษฐีมาก่อน แต่ว่ามีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้สละชีวิตทางโลก มุ่งตรงต่อเส้นทางธรรม เพื่อแสวงหาทางที่จะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ เมื่อบวชแล้วท่านได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง
 
    คราวหนึ่ง ท่านเดินทางไปหาสถานที่จำพรรษาตามชนบทกับคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ เพื่อจะได้ใช้เวลาปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ครั้นชาวบ้านในละแวกนั้นเห็นพระมาโปรดถึงบ้าน ต่างเกิดจิตเลื่อมใสพากันอาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษาในหมู่บ้านแห่งนั้น พร้อมกับปวารณาตนว่า "ถ้าพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจำพรรษาอยู่ที่นี่ ก็จะช่วยกันอุปัฏฐากดูแลไม่ให้ท่านลำบาก และจะตั้งใจรักษาศีลเจริญภาวนาตามที่พระสั่งสอน"
 
    พระมหาปาละเห็นว่า หมู่บ้านแห่งนี้เหมาะต่อการทำความเพียร วัดก็อยู่ไม่ไกลบ้าน ทั้งยังไม่มีเสียงดังรบกวน ไม่มีคนพลุกพล่าน ทุกคนในหมู่บ้านก็มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงตกลงที่จะจำพรรษาที่วัดนั้นด้วยกันหมดทุกรูป
 
    ในวันเข้าพรรษา ท่านได้ปรึกษากับคณะสงฆ์ในวัดว่า "ภายใน พรรษานี้ พวกเราจะตั้งใจปฏิบัติธรรม ให้บรรลุธรรมด้วยวิธีการใดบ้าง" แต่ละรูปต่างบอกวิธีการทำความเพียรของตน เช่น จะตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ แล้วทำสมาธิทุกวันไม่ให้ขาด จะไม่มัวมานั่งจับกลุ่มพูดคุยกันในเรื่องไร้สาระ เป็นต้น พระเถระก็อนุโมทนาในความตั้งใจดีของภิกษุแต่ละรูป ส่วนตัวท่านได้ประกาศในท่ามกลางสงฆ์ว่า ท่านมาบวชในช่วงที่อายุมากแล้ว ตลอดพรรษานี้จึงตั้งใจว่าจะเร่งรีบทำความเพียร โดยจะอยู่ในอิริยาบถ 3 เท่านั้น คือ นั่ง เดิน ยืน แต่จะไม่นอนเป็นอันขาด
 
    นอกจากนี้ ท่านยังได้กำชับอีกว่า "พวกเราเรียนพระกัมมัฏฐานจากพระ ผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ควรเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญความเกียจคร้าน แต่ทรงยินดีกับผู้ที่ตั้งใจปรารภความเพียร ดังนั้นเราทั้งหลายจะต้องตั้งใจบำเพ็ญเพียรให้ยิ่งๆขึ้นไป" จากนั้นพระเถระก็ตั้งใจทำความเพียรอย่างจริงจัง โดยไม่ยอมจำวัดตลอด 1 เดือน
 
    ต่อมา ดวงตาของท่านเกิดอาการอักเสบ ด้วยความที่ท่านอายุมากแล้ว อีกทั้งกรรมเก่าในอดีตตามมาให้ผล ท่านจึงปวดลูก นัยน์ตามาก น้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา ภิกษุที่คอยอุปัฏฐากท่าน จึงไปปรึกษาแพทย์ในหมู่บ้าน แพทย์ได้ปรุงยามาให้ท่านหยอดตา แต่พระเถระไม่ยอมนอนหยอดตา เพราะเกรงจะผิดสัจจะที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะไม่นอน ดังนั้นท่านจึงนั่งหยอดตา ทำให้ไม่หายจากโรค เมื่อแพทย์รู้ข่าวว่าพระเถระยังไม่หาย ก็สงสัยว่าปกติยาหยอดตาที่ปรุงพิเศษนี้ หยอดเพียงครั้งเดียวก็หายแล้ว แต่ทำไมพระเถระถึงยังไม่หาย เมื่อรู้ว่าพระเถระไม่ยอมนอนหยอดตา จึงขอร้องท่านว่า "ขอให้พระคุณเจ้านอนหยอดตาเถิด ถ้าไม่นอนก็รักษาไม่หาย"
 
    พระเถระก็ยังคงนั่งหยอดตา ไม่ยอมเหยียดหลังลงนอน ท่านเตือนสติตนเองว่า "สังสารวัฏนี้ยาวไกลยิ่งนัก ไม่มีใครกำหนดเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดได้ ถ้าเรามัวมาห่วงแต่ดวงตา เราคงจะไม่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะไปได้ ฉะนั้นเราจะไม่ยอมเห็นแก่ดวงตาคู่นี้"
 
    หลังจากแพทย์กลับไปแล้ว ท่านได้ตั้งใจทำสมาธิภาวนาต่อไป โดยปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในโลกภายนอก แล้วทำใจหยุดนิ่งเข้าสู่กลางภายในเรื่อยไป เมื่อล่วงพ้นมัชฌิมยาม ดวงตาทั้งสองของท่านก็แตกดับไป พร้อมๆ กับดวงธรรมภายในที่สว่างไสวขึ้นมาแทนที่ ท่านได้เข้าถึงธรรมกายอรหัต หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ในคืนนั้นเอง
 
พระภายใน เข้าพรรษานี้ต้องเข้าถึงธรรม
 
พระรัตนตรัยภายในตัว แสงสว่างภายในนำมาซึ่งความสุข
 
    แม้ดวงตาภายนอกจะมืดบอด แต่ตาภายใน คือ ธรรมจักษุของท่านนั้น สว่างไสวยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวัน เป็นแสงสว่างที่นำมาซึ่งความสุข ความบริสุทธิ์ และความรู้แจ้งในธรรมทั้งหลาย แทงตลอดในนิพพาน ภพสาม โลกันตร์ อีกทั้งในพรรษานั้น ท่านยังได้สั่งสอนลูกศิษย์และพุทธบริษัทให้ได้บรรลุธรรมกันมากมาย
 
    เราจะเห็นว่า ในสมัยก่อน ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุจะปรารภความเพียรกันอย่างจริงจัง มีกติกาเพื่อให้การปฏิบัติธรรมก้าวหน้า จนกระทั่งหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ส่วนญาติโยมต่างตั้งใจรักษาศีลและเจริญภาวนาตามที่พระสั่งสอน ทำให้เข้าถึงประสบการณ์ภายใน และได้บรรลุธรรมกายในที่สุด
 
    ดังนั้น พรรษานี้ควรให้เป็นพรรษาที่พิเศษสำหรับพวกเราทุกคน เป็นพรรษาแห่งการเข้าถึงธรรม พรรษาแห่งความสมปรารถนา หลวงพ่อปรารถนาเชิญชวนให้ทุกๆคนทั่วโลก นั่งสมาธิกันทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง พรรษานี้ตั้งใจว่า อยากจะให้ได้ 10 ล้านชั่วโมงธรรมกาย แต่ถ้าทำได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี เพราะฉะนั้นให้ตั้งใจแน่วแน่ว่าตลอดพรรษานี้ เราจะนั่งสมาธิทุกๆวัน วันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย นั่งกันทั้งครอบครัว ยิ่งถ้าเรามานั่งรวมกันมากๆ ก็จะยิ่งเกิดกำลังใจซึ่งกันและกัน ให้เปิดบ้านของเราเป็นบ้านกัลยาณมิตร เพื่อเป็นอริยสถานแห่งการบรรลุธรรมของผู้มีบุญ ที่เขาจะมาเข้าถึงธรรม ทำบ้านของเราให้เป็นประดุจทิพยสถานในเมืองมนุษย์ เป็นที่ปฏิบัติธรรมที่สว่างไสวด้วยแสงแห่งธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน
 
    สถานที่ใดก็ตาม ที่มีการรวมตัวกันทำความดี ความสว่างไสวย่อมบังเกิดขึ้น สิริมงคลทั้งหลายจะหลั่งไหลมาสู่ตัวเรา และทุกคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น หากเราสามารถชักชวนบุคคลใดให้มาทำใจหยุดใจนิ่ง มาฟังธรรม และมาเข้าถึงธรรมที่บ้านของเราได้ เขาจะไม่มีวันลืมเราเลยจนตลอดชีวิต เราจะอยู่ในดวงใจเขาตลอดเวลา ในฐานะเป็นยอดกัลยาณมิตรผู้ให้แสงสว่างแก่เขาและชาวโลก
 
บวชแทนคุณประเทศชาติและพระพุทธศาสนา บวชเข้าพรรษานี้

วันออกพรรษา


 ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา
           ประเพณีเกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา ที่นิยมปฏิบัติอยู่ 2 อย่าง คือ

1. ประเพณีตักบาตรเทโว หลัง วันออกพรรษา 

          หลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ "ตักบาตรเทโว" หรือชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก โดยสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" โดยอาหารที่นิยมนำไปใส่บาตรคือ ข้าวต้มมัด และ ข้าวต้มลูกโยน

ความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเทโว มีดังนี้

          สมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสคร การที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า "เทโวโรหณะ" ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

          โดยพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ หลัง วันออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

2. ประเพณีเทศน์มหาชาติ หลัง วันออกพรรษา

          งานเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลัง วันออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือนหลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และ มหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขี้น 8 ค่ำกลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า "งานบุญพระเวส"  ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี

          งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประเพณี วันออกพรรษา ในแต่ละภาค

นอกจากนี้ในแต่ละภาคก็จะมีประเพณีที่ต่างกันไป

วันออกพรรษา ภาคกลาง

          จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันไดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันไดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

          จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุก็จะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยขบวนพระภิกษุสงฆ์ที่ลงมาจากบันไดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูปนำหน้า ทำการสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา ตั้งไว้บนรถหรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต

          แต่สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้วฟังเทศน์รักษาอุโบสถศีล ส่วนที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น 2 วัน คือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ในวันออกพรรษานั้น หรือในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย ๆ และรักษาอุโบสถศีล

          ส่วนทางภาคใต้ก็จะมีประเพณีชักพระหรือลากพระ ซึ่งก็คือพระพุทธรูปนั่นเอง โดยมี 2 กรณี คือ ชักพระทางบก กับ ชักพระทางน้ำ 


พิธีชักพระทางบก          

          ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ 2 วัน จะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวานแล้ว ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน คือ "ปัด" หรือข้าวต้มผัดน้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา 1 - 2 สัปดาห์ ทางวัดจะทำเรือบก คือ เอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อนมาทำเป็นพญานาค 2 ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรีไว้บรรเลง เวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตัว เมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่างๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร อย่างการชักพระที่ปัตตานีก็จะมีชาวอิสลามร่วมด้วย

พิธีชักพระทางน้ำ

          ก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่างๆ โดยการนำเรือมา 2 - 3 ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูป ในเรือบางที่ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานก็จะมีเรือพระหลายๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมด ทุกวัดที่มาร่วมจะมีการฉลองสมโภชพระ มีการละเล่นต่างๆ อย่างสนุกสนาน เช่น แข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน

          ในเขตที่มีบ้านเรือนอยู่ในเขตแม่น้ำลำคลองก็จะมีพิธีรับพระเช่นกัน อย่างที่อำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระพุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม และยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย หรือจะเป็นประเพณีตักบาตรพระร้อย ที่เป็นการใส่บาตรพระร้อยรูป ส่วนมากจะจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องจากแต่ก่อนบ้านเรือนจะอยู่ติดแม่น้ำลำคลอง การสัญจรไปไหนมาไหนก็จะใช้เรือ พระส่วนใหญ่จึงใช้เรือในการออกบิณฑบาต

กิจกรรมต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติใน วันออกพรรษา

           1. ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ

           2. ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล ถวายสังฆทาน ถวายภัตตาหาร หรือจัดดอกไม้ ธูป เทียน ไปบูชาที่วัด และฟังพระธรรมเทศนา

           3. ร่วมกุศลธรรม "ตักบาตรเทโว"

           4. ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและ ประดับธงชาติและธงธรรมจักรตามวัด และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

           5. ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับวันออกพรรษาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

           6. งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข รวมทั้งละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์

โดยประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการทำพิธี วันออกพรรษา จะมีดังต่อไปนี้

           เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงอยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล

           การทำบุญออกพรรษาจะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนานๆ ก็จะเผย "สันดาน" ที่แท้ออกมา อาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้างๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน

           ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูก ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา

           เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกัน โดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใดๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

          ดังนั้นใครที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง วันออกพรรษา จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการย้อนมองดูตัวเองว่าได้ทำสิ่งใดผิดพลาดไว้บ้างหรือเปล่า เพื่อที่จะได้ปรับปรุงและไม่ทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมอีก

วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันปิยมหาราช

         ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า "พระปิยมหาราช" หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น วันปิยมหาราช
 ความเป็นมาของ วันปิยมหาราช

รัชกาลที่ 5

          เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ

          เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น "สำนักพระราชวัง" ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

 พระราชประวัติ

รัชกาลที่ 5

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
          เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

          ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

          ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

          เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน
          ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี

 พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิเช่น

 1.การเลิกทาส

เลิกทาส

          เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช"
ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต พระองค์จึงทรงมีพระทัยแน่วแน่ว่า จะต้องเลิกทาสให้สำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะทาสมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้ เมื่อไม่มีทาส บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจและก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จึงตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ มีบัญญัติว่า ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2411 ให้มีสิทธิได้ลดค่าตัวทุกปี และพอครบอายุ 21 ปีก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง จากนั้นใน พ.ศ.2448 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า "พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124" (พ.ศ.2448) เลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป และการซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด

          ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ในเวลาเพียง 30 ปีเศษ ทาสในเมืองไทยก็หมดไปโดยไม่เกิดการนองเลือดเหมือนกับประเทศอื่นๆ

 2.การปฏิรูประบบราชการ

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน จากเดิมมี 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงลาโหม, กระทรวงนครบาล, กระทรวงวัง, กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตราธิการ ได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา, กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่างๆ , กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ

 3.การสาธารณูปโภค
           การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.2452

           การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยาก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย

คลอง

          นอกจากนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพาน และถนนอีกมากมาย คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น และโปรดให้ขุดคลองต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางคมนาคม และส่งเสริมการเพาะปลูก

           การสาธารณสุขเนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลศิริราช" เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2431

           การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433

           การไปรษณีย์ โปรดให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2412 โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ

 4.การเสด็จประพาส


เสด็จประพาส

          การเสด็จประพาสเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญอันหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหลังจากเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสแล้ว ก็ได้เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2440 ครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2450 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ตลอดจนประเทศฝรั่งเศสด้วย อีกทั้งยังได้ทรงเลือกสรรเอาแบบแผนขนบธรรมเนียมอันดีในดินแดนเหล่านั้นมาปรับปรุงในประเทศให้เจริญขึ้น

          ในการเสด็จประพาสครั้งแรกนี้ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตลอดระยะทางถึงสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ (ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชเทวี) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระราชหัตถเลขานี้ต่อมาได้รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อ "พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน" ให้ความรู้อย่างมากมายเกี่ยวแก่สถานที่ต่างๆ ที่เสด็จไป

          ส่วนภายในประเทศ ก็ทรงถือว่าการเสด็จประพาสในที่ต่างๆ เป็นการตรวจตราสารทุกข์สุขดิบของราษฎรได้เป็นอย่างดี พระองค์จึงได้ทรงปลอมแปลงพระองค์ไปกับเจ้านายและข้าราชการ โดยเสด็จฯ ทางเรือมาดแจวไปตามแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อแวะเยี่ยมเยียนตามบ้านราษฎร ซึ่งเรียกกันว่า "ประพาสต้น" ซึ่งได้เสด็จ 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ.2447 และในปี พ.ศ.2449 อีกครั้งหนึ่ง

รัชกาลที่ 5


 5.การศึกษา

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ "โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ "โรงเรียนวัดมหรรณพาราม" และในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2435 (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา

รัชกาลที่ 5


 6.การปกป้องประเทศจากการสงครามและเสียดินแดน

          เนื่องจากลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่อิทธิพลเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนบางส่วนไปก็ตาม โดยดินแดนที่ต้องเสียให้กับต่างชาติ ได้แก่ 

           พ.ศ.2431 เสียดินแดนในแคว้นสิบสองจุไทย 
           พ.ศ.2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ฝรั่งเศส และฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้ 
           พ.ศ.2447 เสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี แต่ฝรั่งเศสได้ยึดตราดไว้แทน 
           พ.ศ.2449 เสียดินแดนที่เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับตราด และเกาะทั้งหลาย แต่การเสียดินแดนครั้งสุดท้ายนี้ไทยก็ได้ประโยชน์อยู่บ้าง คือฝรั่งเศสยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ยอมให้ศาลไทยมีสิทธิที่จะชำระคดีใดๆ ที่เกิดขึ้นแก่ชาวฝรั่งเศส ไม่ต้องไปขึ้นศาลกงสุลเหมือนแต่ก่อน

          ส่วนทางด้านอังกฤษ ประเทศไทยได้เปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ รวมถึงเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้วย ใน พ.ศ.2454 อังกฤษจึงยอมตกลงให้ชาวอังกฤษ หรือคนในบังคับอังกฤษมาขึ้นศาลไทย และยอมให้ไทยกู้เงินจากอังกฤษ เพื่อนำมาใช้สร้างทางรถไฟสายใต้จากกรุงเทพฯ ถึงสิงคโปร์ เพื่อตอบแทนประโยชน์ที่อังกฤษเอื้อเฟื้อ ทางฝ่ายไทยยอมยกรัฐกลันตัน ตรังกานูและไทยบุรี ให้แก่สหรัฐมลายูของอังกฤษ

 ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น
           พ.ศ.2411 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ

           พ.ศ.2412 ทรงโปรดเกล้าให้สร้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

           พ.ศ.2413 เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา, โปรดฯ ให้ยกเลิกการไว้ผมทรงมหาดไทย

           พ.ศ.2415 ทรงปรับปรุงการทหารครั้งใหญ่, โปรดให้ใช้เสื้อราชปะแตน, โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษแห่งแรกขึ้นในพระบรมหาราชวัง

           พ.ศ.2416 ทรงออกผนวชตามโบราณราชประเพณี, โปรดให้เลิกประเพณีหมอบคลานในเวลาเข้าเฝ้า

           พ.ศ.2417 โปรดให้สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน, ตั้งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) และให้ใช้อัฐกระดาษแทนเหรียญทองแดง

           พ.ศ.2424 เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์ครั้งแรก เป็นสายระหว่างกรุงเทพฯ–สมุทรปราการ, สมโภชพระนครครบ 100 ปี มีการฉลอง 7 คืน 7 วัน

           พ.ศ.2426 โปรดให้ตั้งกรมไปรษณีย์ เริ่มบริการไปรษณีย์ในพระนคร, ตั้งกรมโทรเลข และเกิดสงครามปราบฮ่อครั้งที่ 2

           พ.ศ.2427 โปรดฯ ให้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ทั่วไปตามวัด โรงเรียนแห่งแรกคือ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม

           พ.ศ.2429 โปรดฯ ให้เลิกตำแหน่งมหาอุปราช ทรงประกาศตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้นแทน

           พ.ศ.2431 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไทให้แก่ฝรั่งเศส, เริ่มการทดลองปกครองส่วนกลางใหม่, เปิดโรงพยาบาลศิริราช, โปรดฯให้เลิกรัตนโกสินทร์ศก โดยใช้พุทธศักราชแทน

           พ.ศ.2434 ตั้งกระทรวงยุติธรรม, ตั้งกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา

           พ.ศ.2436 ทรงเปิดเดินรถไฟสายเอกชน ระหว่างกรุงเทพฯ-ปากน้ำ, กำเนิดสภาอุนาโลมแดง (สภากาชาดไทย)

           พ.ศ.2440 ทรงเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก

           พ.ศ.2445 เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส

           พ.ศ.2448 ตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาสโดยสิ้นเชิง

           พ.ศ.2451 เปิดพระบรมรูปทรงม้า

           พ.ศ.2453 เสด็จสวรรคต

 พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปทรงม้า

พระบรมรูปทรงม้า

          ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ร่วมใจกันรวบรวมเงินจัดสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้ทรงสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และเนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงครองราชย์นานถึง 40 ปี
          พระบรมรูปทรงม้านี้ หล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระองค์ใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อย ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร ห่างจากฐานของแท่นออกมามีรั้วเตี้ยๆ ลักษณะเป็นสายโซ่ขึงระหว่างเสาล้อมรอบกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร ที่แท่นด้านหน้ามีคำจารึกบนแผ่นโลหะติดประดับสรรญเสริญว่า "คำจารึกฐานองค์พระบรมรูปทรงม้า ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้ว 2451พรรษา จำเดิมแต่พระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ได้ประดิษฐาน แลดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยาเป็นปีที่ 127 โดยนิยม"

          สำหรับแบบรูปของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้จ้างช่างหล่อชาวฝรั่งเศส แห่งบริษัทซูซ เซอร์เฟรส ฟองเดอร์เป็นผู้หล่อ ณ กรุงปารีส เลียนแบบพระบรมรูปทรงม้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประดิษฐานอยู่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2450 พระองค์ได้เสด็จประทับให้ช่างปั้นพระบรมรูป เมื่อวันที่ 22 สิงหคม ศกนั้น พระบรมรูปเสร็จเรียบร้อย และส่งเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ในทางเรือ

          เมื่อ พ.ศ.2451 โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี
          เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นประดิษฐานบนแท่นรองที่หน้าพระลานพระราชวังดุสิต ที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบันนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงอ่านคำถวายพระพรชัยมงคล เสร็จแล้วจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระบรมรูปทรงม้า กราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช พระราชบิดาให้ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อประกาศเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้สถิตสถาพรปรากฏสืบไปชั่วกาลนาน

 กิจกรรมใน วันปิยมหาราช

วันปิยมหาราช

          ในวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี หน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน นักเรียน-นิสิตนักศึกษา รวมทั้งประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในหน่วยงาน และโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไป